Last updated: 17 Jan 2024 | 575 Views |
หมดใจหรือแค่หมดไฟ ท้อไม่ไหวจนอยากจะเท! เท! เท! ไม่ว่าวัยเรียนหรือวัยทำงานก็ต่างเคยเกิดอาการเช่นนี้แทบทั้งสิ้น เคยสงสัยมั้ยว่านี่ใช่ Burnout Syndrome หรือเปล่า?
ปีหลังๆ มานี้เราเริ่มคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า Burnout Syndrome กันมากขึ้น ซึ่งมันเกิดมาจากความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเราต้องเจอกับงานที่ถาโถมและความเครียดที่สะสมมาเป็นเวลานาน แต่คนที่มีภาวะ Burnout ไม่ได้หมายความว่าจะต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพียงแต่จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ก่อนอื่นมาสำรวจตัวเองว่ามีอาการตามด้านล่างนี้หรือไม่
มีทัศนคติที่ไม่ดีต่องานที่ทำอยู่ ไม่มีความสุขในการทำงาน
ท้อแท้ เบื่องาน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
รู้สึกเหนื่อย หมดแรง อ่อนเพลีย แต่นอนไม่หลับ
มีอาการปวดหัว มวนท้อง คลื่นไส้ ในระหว่างทำงาน
ความสามารถในการจำและสมาธิลดลง
มีความขัดแย้งกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมากขึ้น ไม่อยากให้ความร่วมมือใดๆ
แยกตัวไม่สุงสิงกับผู้อื่น ทั้งเพื่อนและคนในครอบครัว
ผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่กระตือรือร้น
ใครที่มีอาการทุกข้อตรงเป๊ะหรือมากกว่า 80% ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่เข้าข่ายภาวะ Burnout
วันนี้ CHULAguide เลยมาแชร์ทริคเบื้องต้นในการปลุกไฟที่มอดไหม้ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง
ปรับทัศนคติในการทำงาน
อย่างแรกเลยคือต้องลดการกดดันตัวเอง คิดไว้เสมอว่าไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ไปเสียทุกอย่าง งานที่ทำก็เช่นกัน เลิกยึดถือความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ปล่อยวางสิ่งที่เกินควบคุม แต่พยายามทำให้เต็มที่ตามความสามารถที่มี เมื่อเจออุปสรรคก็ค่อยๆ แก้ไปทีละเสต็ป และขอให้เชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ
ขอความช่วยเหลือ เมื่อยามจำเป็น
สืบเนื่องจากด้านบน บางคนยึดถือความสมบูรณ์ทุกระเบียดนิ้ว ชอบแบกภาระงานไว้คนเดียว ไม่เชื่อใจคนอื่น กลัวว่าจะทำออกมาไม่สำเร็จหรือไม่ดีเท่าตัวเอง ลองเปิดใจและปรับตัวในการทำงานกลุ่มหรือกับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นในบางโอกาส ขอความช่วยเหลือคนรอบข้างบ้าง และในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็น เมื่อโดนโยนงานที่ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสุมไฟเครียดให้เราเป็นเท่าตัว
ผ่อนคลาย ทลายเครียด
ความเครียดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเบิร์นเอาท์ ดังนั้นพอเราเริ่มรู้สึกว่าเครียดเมื่อไหร่ ต้องหาวิธีผ่อนคลายอย่าปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งกับความเครียดจนสะสมไม่หาย หาเวลาว่างไปทำกิจกรรมในไลฟ์สไตล์ที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็น ดูหนัง ฟังเพลง กินของอร่อย ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เล่นเกม หรืออะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข แม้เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เมื่อชาร์จพลังเต็มที่แล้วค่อยกลับมาลุยงานต่อก็ยังไม่สาย
นอนให้เพียงพอ ดีต่อหัวใจ
ใครว่าการนอนไม่สำคัญ อย่ามัวแต่โหมงานหรือทำการบ้านหามรุ่งหามค่ำ การนอนอย่างเพียงพอนั้นนอกจากจะเป็นการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ ยังช่วยให้สมองพัฒนาส่วนความจำอย่างเต็มที่ ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ช่วยให้เรามีความสุข แถมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย
จัดระเบียบชีวิต จิตแจ่มใส
ท่ามกลางความยุ่งเหยิงของชีวิต ควรรีบคิดจัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำให้ดี อันไหนที่เร่งด่วนควรโฟกัสก่อน อย่างงานที่ได้คะแนนเยอะหรือเมกะโปรเจกต์ที่ต้องพรีเซนต์ในวันสองวันนี้ก็ควรเคลียร์ให้เสร็จทันที แล้วค่อยหันไปทำงานที่สำคัญรองลงมา จัดเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม แล้วจะไม่ทุกข์ระทมกับอาการเวิร์คโหลดอีกเลย
แต่ถ้าหากอาการของใครไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้ แนะนำให้เข้าไปปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด
อ้างอิงจาก dek-d.com
17 Jan 2024
17 Jan 2024
17 Jan 2024