16 Jan 2024
ในยุคที่วัฒนธรรมและการสื่อสารไร้พรมแดน ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราได้พบเห็นการใช้ชีวิตจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก ทั้งในเรื่องของชีวิตประจำวัน แนวคิด ค่านิยม การบริโภค ความงาม หรือความสำเร็จ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนมีชื่อเสียง หรือคนทั่วไปก็ตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีความต้องการใช้ชีวิต ตามกระแสสังคม หรือตามคนที่เราชื่นชอบ และด้วยความต้องการเหล่านี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ ในขณะที่ตนเองยังไม่พร้อม หรือการรูดบัตรเครดิต เพื่อจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารเสริม คอร์สเสริมสวย ท่องเที่ยว อาหารมื้อหรู รวมถึงสิ่งที่เราเรียกกันติดปากว่า “ของมันต้องมี” ในขณะที่เราไม่สามารถจะชำระเต็มจำนวนได้ ซึ่งการบริโภคที่มากเกินฐานะ และการก่อหนี้เกินกว่าที่เราจะจัดการได้นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณความเสี่ยงที่จะเสียสุขภาพทางการเงิน 5 สัญญาณเสี่ยงที่จะเสียสุขภาพทางการเงิน มีภาระการผ่อนชำระหนี้สินต่อเดือน มากกว่า 40% ของรายได้สุทธิในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็นการผ่อน บ้าน/คอนโด รถยนต์/จักรยานยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่าภาระการผ่อนชำระต่อเดือนที่มากเกินไป อาจทำให้เราต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน ไม่เหลือเก็บเพื่อเป้าหมายอื่นในชีวิต หรือถึงขั้นไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่มีเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน ในสภาวะปกติ เราอาจจะไม่รู้สึกถึงปัญหา แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เราอาจจะต้องนำเงินที่เก็บไว้เพื่อเป้าหมายอื่นในชีวิตออกมาใช้ก่อนกำหนด ทำให้เสียโอกาสในการรับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ แต่หากไม่มีเงินเก็บในส่วนอื่นด้วยแล้ว ก็ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายฉุกเฉินกันเลยทีเดียว ค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงกว่ารายได้ การเงินรายเดือนติดลบ ทำให้เราต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ และถ้ายังชักหน้าไม่ถึงหลังแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้จ่าย จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ ชำระบัตรเครดิตแบบขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง การรูดบัตรเครดิตเกินกว่าที่จะมีกำลังจ่ายเต็มจำนวน จนต้องชำระแบบขั้นต่ำ รวมถึงการกดเงินสดจากบัตรเครดิต ถือเป็นสาเหตุหลักของภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ยิ่งถ้าเรากดเงินสดออกมาใช้ แล้วยังชำระขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องทุกเดือน จะยิ่งทำให้หนี้สินของเราพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่เราจะรับมือไหว จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่าย ไม่ว่าเราจะกู้เงินเพื่อมาจ่ายชำระหนี้ หรือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จะทำให้เราพบเจอกับปัญหาหนี้สินที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นหนี้เสียในที่สุด ถ้าพบว่าตัวเองมีสัญญาณเสี่ยงใน 5 ข้อนี้ ลองปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย มีวินัยกับตัวเองให้มากขึ้น แล้วมาเริ่มต้นวางแผนทางการเงินต่อไปให้ดี ฟื้นฟูสุขภาพทางการเงิน เสริมเกราะป้องกันความเสี่ยงให้ตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งในระยะยาว โดยใช้หลักพีระมิดทางการเงิน เพื่อเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเงินให้กับผู้อ่านทุกท่านได้ การวางแผนการเงิน ด้วยพีระมิดทางการเงิน จะเน้นที่การวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการสร้างรากฐานให้มั่นคงก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยต่อยอดไปที่ขั้นถัดไปเรื่อย ๆ จนถึงยอดบนสุดของพีระมิด ลองดูตามภาพจะเห็นว่าฐานของพีระมิด คือ การวางแผนจัดการรายรับ-รายจ่าย จะเป็นขั้นที่ใหญ่และกว้างที่สุด เรียกได้ว่า การเงินที่ดีต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ การวางแผนภาษี จะอยู่ในทุกขั้นของพีระมิดควบคู่ไปด้วย เพราะภาษีเกี่ยวข้องกับเราในทุกจังหวะของชีวิต การวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้เป้าหมายทางการเงินของเราสำเร็จได้ง่ายขึ้น ถ้าใครรู้จักใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เป็น ก็จะมีเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การซื้อประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ การลงทุนใน SSF, RMF หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามที่กรมสรรพากรกำหนด เรามาเริ่ม ขั้นตอนการวางแผนการเงิน ทั้ง 4 ขั้น ไปพร้อม ๆ กัน ขั้นที่ 1 วางแผนจัดการ รายรับ-รายจ่าย เพื่อสร้างรากฐานทางการเงินให้แข็งแรง โดยจัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า ในแต่ละเดือนเราต้องจ่ายเงินออกไปกับค่าอะไรบ้าง และคำนึงไว้เสมอว่ารายรับต้องมากกว่ารายจ่ายในทุกเดือน ไม่ว่าจะหารายได้เพิ่มหรือลดรายจ่ายลงก็ตาม เพื่อให้เรามีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้จ่าย มีเงินเหลือไว้ใช้หนี้ ทยอยเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ให้มีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เผื่อวันใดเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาจะได้มีเงินเตรียมพร้อมรับมือ ไม่กระทบต่อเป้าหมายอื่นในชีวิต และไม่ต้องไม่เผชิญสัญญาณเสี่ยงอีก ขั้นที่ 2 วางแผนจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ตนเอง ทั้งในด้านชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการทำ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันภัยทรัพย์สิน ไม่ให้เหตุฉุกเฉินมาทำให้เรากลับไปอยู่ในภาวะเสี่ยง เพราะอย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดเหตุขึ้น เราจะมีความคุ้มครองที่ครอบคลุม ทั้งการรักษาพยาบาล ชดเชยความเสียหาย และไม่เป็นการสร้างภาระให้คนในครอบครัว นอกจากนี้เราควรจะต้องวางแผนเพื่อการเกษียณไว้ด้วย เรียกได้ว่าป้องกันความเสี่ยงกับทุกสถานการณ์ในชีวิตอย่างครอบคลุม ขั้นที่ 3 วางแผนออมเงินและลงทุน เพื่อต่อยอดความมั่นคงเพิ่มความมั่งคั่ง เมื่อเรามีกำลังพอที่จะมีเงินเหลือเก็บออมในแต่ละเดือน ก็ให้นำเงินไปลงทุนต่อยอด ตามเป้าหมายทางการเงินที่เราวางไว้ เริ่มจากประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ ผลตอบแทนที่เราต้องการ และระยะเวลาในการลงทุนของแต่ละเป้าหมาย แล้วจึงเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับเป้าหมายการเงินระยะยาว อย่างการออมเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ เราอาจจะเน้นลงทุนระยะยาว และมีความเสี่ยงไม่สูงนัก เช่น ประกันสะสมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น แต่หากเราต้องการลงทุนระยะกลาง เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราอาจจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นมาหน่อย เช่น กองทุนรวมตราสารทุน หรือหุ้น เป็นต้น ขั้นสุดท้าย บนสุดของพีระมิด คือ การวางแผนมรดก เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งให้คนที่เรารัก ขั้นนี้ยังไม่ต้องรีบวางแผน ขอให้เรามีความมั่นคงและมั่งคั่งทางการเงินให้ได้ก่อน เอาตัวเองให้อยู่รอด มีความสุขดี แล้วจึงค่อยวางแผนสร้างหลักประกันในชีวิตให้ทายาทต่อไป ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ ลองสำรวจดูว่าเรามีสัญญาณเสี่ยงอะไรที่จะเสียสุขภาพการเงินแล้วหรือยัง ถ้ารู้ตัวว่ามี ก็รีบแก้ไข แล้วเริ่มต้นวางแผนทางการเงินกันใหม่ไปทีละสเต็ป เพื่อความมั่นคง และมั่งคั่งในระยะยาว ถ้าใครอยากศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีฯ www.krungsri.com
16 Jan 2024
กลยุทธ์การบริหารเงินหลังเกษียณ น้ำ 3 ถัง
16 Jan 2024
เนื่องจากชีวิตเราเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินอยู่ตลอด ดังนั้นการจัดการและบริหารการเงินให้เป็นจึงเป็น skill หรือทักษะที่ควรต้องมี มารู้จักและพัฒนาทั้ง 4 ทักษะทางด้านการเงิน เพื่อความมั่งคั่ง และเพื่อเป้าหมายทางการเงินที่เราต้องการกัน 1. ทำงานอย่างฉลาด เพื่อเพิ่มรายได้ ทักษะนี้เป็นทักษะแรกที่ต้องมี เพราะถ้าเราไม่มีรายได้เข้ามา ก็ไม่มีเงินมาให้เราบริหารจัดการ ซึ่งเราควรมีรายได้อย่างน้อย 2 ทาง และควรมีรายได้ที่เป็น passive income เข้ามาด้วย ไม่ใช่มีรายได้เฉพาะ active income คุณปู่บัฟเฟตเคยกล่าวไว้ “If you don't find a way to make money while you sleep, you will work until you die.” ถ้าคุณไม่สามารถมีรายได้เข้ามาได้แม้ในขณะที่คุณหลับ คุณต้องทำงานไปตลอดชีวิต
16 Jan 2024
“การบริหารเงิน” ...ไม่ยากอย่างที่คิด!!! เคยได้ยินกันไหมครับ “หลักการบริหารเงินแบบ 6 Jars System of Money Management” แปลเป็นไทยว่า “การบริหารเงินแบบ 6 ขวดโหล” ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 2007 โดย T. Harv Eker นักเขียนผู้เป็นเจ้าของหนังสือขายดีระดับโลกที่ชื่อว่า “Secrets of the Millionaire Mind (ถอดรหัสลับ สมองเงินล้าน)” นั่นเอง T. Harv Eker เสนอแนวคิดที่เรียบง่าย เน้นให้ความสำคัญกับการแบ่งรายได้ที่ได้รับทุกครั้งออกตามความต้องการทางการเงินเป็น 6 ส่วน ซึ่งเปรียบเสมือนกับการแบ่งเงินที่ได้รับมาใส่ไว้ในขวดโหลจำนวน 6 ใบ (Money in the Jars) โดยในแต่ละโหลจะเป็นสัญลักษณ์แทนความต้องการทางการเงินที่คลอบคลุมชีวิตแทบทุกเรื่องของคนๆ หนึ่งเอาไว้แล้ว (ซึ่งอาจมีระยะเวลาในการใช้จ่าย การออมเงิน และการลงทุนแตกต่างกัน) และมีการกำหนดสัดส่วนของเงินที่ต้องแบ่งคิดเป็นร้อยละของรายได้ในแต่ละโหลไว้อย่างชัดเจน โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ ขวดโหลใบที่ 1 : เงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (Necessity Account) ตามวิถีชิวิต (Life Style) ของแต่ละคน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ รวมถึงค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จำเป็นต่างๆ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ กลับคืนมา โดยคิดเป็น 55% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ ขวดโหลใบที่ 2 : เงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อซื้อความสุขสนองความชอบให้แก่ตนเอง (Play Account) เช่น ค่าดูหนัง ค่าช็อปปิ้ง และท่องเที่ยว เป็นต้น โดย 10% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับจะถูกแบ่งอยู่ในโหลใบนี้ ถือเป็นรายจ่ายเพื่อให้รางวัลชีวิตแก่ตนเองจากการทุ่มเทกับการทำงานหนักมาตลอด ซึ่งสามารถนำมาใช้จ่ายได้อย่างอิสระเพื่อทำอะไรก็ได้ที่สร้างความสุขให้แก่ชีวิตตนเองครับ ขวดโหลใบที่ 3 : เงินสำหรับการลงทุนเพื่อให้บรรลุอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom Account) ถือเป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้กลับคืนมาในอนาคต ซึ่งเป็นได้ทั้งการลงทุนประกอบธุรกิจ หรือการลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ หุ้นกู้ สลากออมสิน เป็นต้น แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องลงมือศึกษาทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองให้ดีเสียก่อน เพราะการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน หรือหมดตัวได้ “นอกจากนี้ ยังต้องมีวินัยในการลงทุนอีกด้วยถึงจะมีโอกาสที่เงินลงทุนจะงอกเงยจนบรรลุอิสรภาพทางการเงินตามที่ตั้งหวังไว้ โดยรายจ่ายส่วนนี้คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ” ขวดโหลใบที่ 4 : เงินลงทุนเพื่อการศึกษาหาความรู้ใส่ตัว (Education Account) โดยคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ ถือเป็นรายจ่ายที่ช่วยต่อยอดความสามารถ เพิ่มทักษะ และพัฒนาความรู้ให้แก่ตนเอง เช่น ค่าเรียนศึกษาต่อ ค่าซื้อหนังสือ ค่าฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตรงกับที่ Benjamin Franklin นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับโลกได้เคยกล่าวไว้ว่า “An Investment in Knowledge Pays the Best Interest” แปลเป็นไทยว่า "การลงทุนศึกษาหาความรู้ช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด” นั่นเอง ขวดโหลใบที่ 5 : เงินออมระยะยาวสำหรับใช้ในอนาคต (Long-term Saving for Spending Account) เป็นการสะสมเงินในระยะยาวเพื่อไว้ใช้ซื้อของขนาดใหญ่ มูลค่าสูงในอนาคต เช่น เงินดาวน์ซื้อบ้าน หรืออาจเป็นเงินออมที่จ่ายให้ตัวเอง (Pay Yourself First) อย่างสม่ำเสมอในระยะยาวเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ หรือยามฉุกเฉิน โดยคิดเป็น 10% ของรายได้ที่ได้รับ ขวดโหลใบสุดท้าย : เป็นเงินในส่วนที่เหลือ 5% ของรายได้ที่ได้รับ เน้นไปที่การให้ (Give Account) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน และตอบแทนให้แก่สังคม ด้วยการนำเงินส่วนนี้ไปบริจาคการกุศล หรือทำบุญ หรือแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้แก่คนรอบข้าง ทั้งนี้ก็เพราะ T. Harv Eker มีความเชื่อว่า “ยิ่งให้ ก็จะยิ่งได้รับคืน (By Giving Away Money, the Universe Will Reward You by Giving You Back More)” เห็นมั้ยครับว่า “แนวคิดบริหารเงิน” แบบ 6 ขวดโหล นี้ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย ใครๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ว่าจะมีรายได้มากน้อยเพียงใด จึงอยากให้ได้ลองลงมือทำกันดูครับ แหล่งที่มาข่าว wealthy thai