การนอน

ปรับการนอน เปลี่ยนชีวิต “การนอน” เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดี แต่การนอนหลับที่ดี อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีโรคนอนไม่หลับ  จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังตามมา  แนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับผู้มีอาการนอนไม่หลับ เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาในทุกวัน ออกกำลังเบา ๆ ก่อนนอน ประมาณ 30 นาที รับประทานอาหารที่มีสารทริปโตเฟน เช่น กล้วย นม เป็นต้น งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หลังเที่ยงวัน  งดสูบบุหรี่ใกล้เวลานอน สร้างสภาพแวดล้อมห้องนอนให้เหมาะสม มืด เงียบ และเย็นสบาย เลือกหมอนหรือที่นอน ที่โอบอุ้มสรีระได้อย่างดี ไม่ทำให้ปวดเมื่อยขณะหลับ พฤติกรรมที่ไม่ควรทำสำหรับผู้ที่นอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง ก่อนซื้อวิตามินหรือยาช่วยเรื่องการนอนหลับ ไม่ควรซื้อยานอนหลับมารับประทานเองโดยเด็ดขาด  ผู้มีอาการกรนขณะหลับ ไม่ควรนอนในท่าหงาย อาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องคอหอยอุดทางเดินหายใจขณะนอนหลับได้ หากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่คุณภาพการนอนไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำ Sleep test เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติจากการนอนหลับ ข้อมูลโดย : อ. นพ.ศิกวัส ธนาวิรัตนานิจ  ฝ่ายอายุรศาสตร์ ศูนย์นิทราเวช

นอนหลับดี ทำได้อย่างไร

นอนน้อยมีผลต่อน้ำหนักอย่างไร ? คุณนอนเต็มอิ่มครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? ซึ่งการนอนน้อยหรือนอนไม่พอทำให้เราง่วงในระหว่างวันได้ แต่นอกจากนี้ยังทำให้เราอ้วนขึ้นได้อีกด้วย ! โดยมีผลดังต่อไปนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่มีผลต่อความอยากอาหาร เวลาของการนอนหลับลดลงส่งผลให้ระดับระดับฮอร์โมนเลปติน (leptin) ลดลง และระดับฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนเลปตินผลิตจากเนื้อเยื้อไขมันมีผลทำให้เบื่ออาหาร สำหรับฮอร์โมนเกรลินส่วนใหญ่ผลิตจากกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกหิว การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนทั้งสองนี้ โดยรวมแล้วทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น คนที่นอนหลับน้อยจึงรู้สึกหิวอาหาร และบริโภคอาหารมากกว่าคนที่นอนหลับเพียงพอ การเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมความอยากอาหาร สมองส่วนที่ความคุมความอยากอาหาร คือ ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนที่ทำให้อยากอาหารและส่วนที่ทำให้เบื่ออาหาร การนอนหลับที่ผิดปกติส่งผลให้ สมองส่วนที่ทำให้อยากอาหารและระบบการให้รางวัล (reward system) ถูกกระตุ้น และส่งผลให้คนที่นอนหลับผิดปกติรู้สึกหิวมากขึ้น ระยะเวลาในการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น การมีช่วงเวลาที่ตื่นเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีระยะเวลารับประทานอาหารมากขึ้นเช่นกัน โดยอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะเป็นอาหารว่างและเครื่องดื่มซึ่งมีพลังงานสูง นอกจากนี้บางคนที่ต้องนอนดึกอาจให้การประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเพื่อลดความง่วง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ได้รับพลังงานมากขึ้นไปจากเดิม และส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น การออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ลดลง คนที่นอนหลับน้อยและนอนหลับไม่มีคุณภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวัน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางกายในแต่ละวันลดลง รวมถึงการออกกำลังกายด้วยเช่นกัน การออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายที่ลดลงนี้ทำให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายลดลง และพลังงานที่เหลือจากการรับประทานอาหารก็จะไปสะสมเป็นไขมันมากขึ้น คนที่นอนหลับน้อยและนอนหลับไม่มีคุณภาพจึงมีโอกาสที่จะน้ำหนักขึ้นเช่นกัน ระยะเวลาการนอนที่น้อยลง และคุณภาพการนอนที่ไม่ดี ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นนอกจากการใส่ใจในเรื่องการบริโภค และการออกกำลังกายแล้ว ระยะเวลาและคุณภาพการนอนที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยในการป้องกันภาวะอ้วน และทำให้มีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน ข้อมูลโดย ผศ. นพ.กุลพงษ์ ชัยนาม อายุรแพทย์ด้านโภชนวิทยาคลินิก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

9 เทคนิค ช่วยให้การนอนหลับของเราดีขึ้น ออกกำลังกาย ช่วงเย็นอย่างน้อย 30 นาทีหรือ 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน กินกล้วยหอมสักผล เพราะมีกรดอะมิโน “ทริปโตเฟน (Tryptophan)” ช่วยคลายเครียดลดความกังวล หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก อาหารที่มีรสเผ็ดหรืออาหารหวานมาก งดอาหารอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ผลของนิโคตินทำให้เราหลับยาก ตื่นบ่อย เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนดึกมาก ระยะเวลาที่ควรเข้านอนคือ 21.00-23.00 น. รวมถึงตื่นนอนให้เป็นเวลาด้วย เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อมที่จะนอน เข้านอนเมื่อรู้สึกง่วง ไม่อยู่ในภาวะตึงเครียด หรือไม่ฝืนนอน จัดระเบียบห้องนอน และกำจัดสิ่งรบกวน ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจก่อนนอน อาบน้ำอุ่น เดินเบา ๆ ไปมา หรือนั่งสมาธิ หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มกระตุ้นประสาททุกชนิด 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน “การนอนหลับที่ดี ไม่ใช่การนอนในระยะเวลายาวนาน แต่เป็นการนอนหลับที่ลึกและเต็มอิ่ม ตื่นมารู้สึกสดชื่น ถึงเรียกว่าการนอนหลับที่มีคุณภาพ” ข้อมูลจาก อ. พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy